gibberellic acid : ผลิตฮอร์โมนจิ๊บเบอเรลริคแอซิดจากหัวปลี



พืชตระกูลแตง พืชตระกูลถั่ว องุ่น ส่วนใหญ่พี่น้องเกษตรกรมักต้องการให้ช่อดอก ผลมีความยืดยาวสวยงาม เพราะช่วยให้กระตุ้นต่อมอยากและต้องตาต้องใจแก่ผู้บริโภคเมื่อได้พบเห็น ดูแล้วน่าซื้อหารับประทานว่างั้น เพราะคิดว่าน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการดูแลทะนุถนอมมาอย่างดี ผลแตงกวาที่เรียวยาว ฝักถั่วที่ยาวสวย ช่อองุ่นที่พวงยาวใหญ่ระย้าใครๆ ก็อยากจะซื้อหารับประทาน จึงทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มักรีบขวนขวายหาฮอร์โมนต่างๆ นานา มาประเคนใส่เข้าไปในสวนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค แต่มาในระยะหนึ่งผู้บริโภคก็เริ่มมีความรู้มากขึ้นถึงผลเสียของการบริโภคฮอร์โมนสังเคราะห์ที่สะสมในปริมาณมากกลัวว่าอาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว จากการที่ได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลที่มีมากมายล้นหลามจากอินเทอร์เน็ต มั่วมั่ง จริงมั่ง ก็ยังดี เพราะอย่างน้อยก็ถือว่าได้รับความรู้อีกหลายเรื่องที่ไม่เคยได้พบได้เห็นจากที่ไหนมาก่อน

หนึ่งในนั้นคือฮอร์โมนที่ชื่อว่า จิ๊บเบอเรลริค แอซิด ที่นำมาใช้กันถ้วนทั่วหลากหลายยี่ห้อ ในพืชที่ได้เอ่ยไปเบื้องต้น และยังมีอีกเยอะแยะมากมายที่ยังไม่ได้เอ่ยถึงเพราะค่อนข้างเป็นที่นิยมและใช้กันมากจริงๆ การค้นพบจิ๊บเบอเรลริค แอซิดครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อสมัยก่อนสงครามโลก โดยพบสารนี้อยู่ในเชื้อรา และต่อมาก็ได้มีการพบสารนี้อีกในต้นพืช จึงจัดว่าเป็นสารฮอร์โมนพืชอย่างหนึ่ง สารจิ๊บเบอเรลริค แอซิดนี้เท่าที่มีการค้นพบมาตั้งแต่เริ่มแรกมาจนถึง ปัจจุบัน มี 65 ชนิด โดยแต่ละชนิดมีโครงสร้างและโมเลกุลคล้ายกัน จึงเรียกชื่อแต่ละชนิดเหมือนกันหมดโดยมีตัวเลขต่อท้าย เช่น GA1, GA2, GA3……GA65 เป็นต้น ข้อมูลเพิ่มเติมหาอ่านได้ในหนังสือชื่อ ฮอร์โมนพืชและสารสังเคราะห์ แต่งโดย อาจารย์พีรเดช ทองอำไพ พิมพ์ครั้งที่ 4 ปี 2537

เมื่อเรารู้ว่าสารจิ๊บเบอเรลริค แอซิดนี้ก็มีอยู่ในพืชด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะบริเวณยอดอ่อน ก้านหรือช่อดอกของไม้เกือบทุกชนิด แต่ก้านช่อดอกไม้ที่ยาวใหญ่และหาง่าย มีฮอร์โมนของจิ๊บเบอเรลริค แอซิดอยู่มากที่สุดก็ไม่น่าจะเป็นอะไรไปได้ นอกจาก “ดอกของกล้วย” ซึ่งก็คือ หัวปลี และก้านของปลีที่ยืดยาวออกมานั่นเอง อาจจะใช้ทั้งหัวปลีหรือก้านสุดแท้แต่ใครจะสะดวก หรือบางท่านอาจจะเสียดายรอไว้ให้ตัดเครือออกไปเสียก่อนก็ได้นะครับ

วิธีทำ ก็สามารถใช้ทั้งปลี ก้านเครือ (งวงหัวปลี) ใช้นำมาสับบดตำให้ละเอียดให้ได้ 3 กิโลกรัม หมักกับ กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม และแอลกอฮอล์ล้างแผล 500 ซี.ซี. และใช้ หินแร่ภูเขาไฟ (สเม็คโตไทต์, ไคลน็อพติโลไลท์, พูมิช)จับกลิ่นและก๊าซพิษอย่างแอมโมเนีย, ก๊าซไฮโดรเย่นซัลไฟด์ และมีเทนเพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานได้สะดวก ออกซิเจนมากขึ้น หมักทิ้งไว้ 1 - 2 สัปดาห์คั้นเอากากออก หลังจากนั้นปิดฝาเก็บไว้ใช้ได้นานเป็นเดือนๆครับ นำไปฉีดพ่นใน ถั่ว ผักบุ้ง แตงกวา ชะอม และองุ่น เพื่อยืดช่อ ยืดดอก ยืดก้าน ในอัตรา 10 – 20 ซี.ซี.ต่อน้ำ 20 ลิตรรับรองว่าได้ผลดีไม่แพ้เคมีสังเคราะห์ที่ขายในท้องตลาดแน่นอนครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

Leave a Reply